มาสเตอร์การ์ดชี้ นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ สำหรับผู้หญิงมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ไทย ฮ่องกง และเวียดนาม ติด 20 อันดับแรกของโลก
คำบรรยายภาพ: 20 อันดับประเทศทั่วโลกที่ส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี
ข้อมูลจากดัชนีผู้ประกอบการสตรีของมาสเตอร์การ์ดประจำปี พ.ศ. 2562
ประเทศนิวซีแลนด์ถูกจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอันดับสองของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจสำหรับผู้หญิง มาสเตอร์การ์ดเผยดัชนีผู้ประกอบการสตรี (Mastercard Index of Women Entrepreneurs) เป็นฉบับที่สาม เพื่อฉลองให้กับประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโต ขณะเดียวกันเพื่อส่งสัญญาณให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่ยังคงมีอยู่ในสังคม
ดัชนีผู้ประกอบการสตรีของมาสเตอร์การ์ดรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ยูเนสโก และรายงานการศึกษาความเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (The Global Entrepreneurship Monitor) เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงใน 58 ประเทศ (คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของแรงงานหญิงทั่วโลก) พิจารณาจากสามองค์ประกอบ ได้แก่ 1) ผลลัพธ์ด้านความก้าวหน้าของสตรี 2) สินทรัพย์ด้านความรู้และการเข้าถึงทางการเงิน และ 3) สภาพที่เอื้อต่อการประกอบกิจการ
รายงานนี้ได้ตอกย้ำถึงความสามารถของผู้หญิงในการทำธุรกิจและการมีส่วนร่วมในการทำงานที่มากขึ้นในประเทศที่เปิดกว้างอย่างนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้มีอัตราการสนับสนุนการทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สูงและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ผู้หญิงในประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน การให้บริการด้านการเงินและหลักสูตรให้ความรู้ในด้านต่างๆ โดยทั่วไปแล้วประเทศเหล่านี้มีบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่งเสริมความสำเร็จของบุคคลที่มีความพยายาม คิดสร้างสรรและกล้าได้กล้าเสีย รวมถึงให้โอกาสผู้หญิงอย่างเท่าเทียมในการเป็นผู้นำทางธุรกิจ ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และให้การยอมรับในฐานะผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งร้อยละ 80 จาก 20 อันดับประเทศทั่วโลกที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี เป็นประเทศที่มีฐานรายได้สูง
20 อันดับประเทศที่ส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี
อันดับ | ประเทศ | คะแนนความเกื้อหนุนต่อผู้ประกอบการสตรี | อันดับ | ประเทศ | คะแนนความเกื้อหนุนต่อผู้ประกอบการสตรี |
1 | สหรัฐอเมริกา | 70.3 | 11 | ฟิลิปปินส์ | 65.1 |
2 | นิวซีแลนด์ | 70.2 | 12 | ฝรั่งเศส | 64.8 |
3 | แคนาดา | 69.0 | 13 | ออสเตรเลีย | 64.7 |
4 | อิสราเอล | 68.4 | 14 | ไทย | 64.62 |
5 | ไอร์แลนด์ | 67.7 | 15 | เขตปกครองพิเศษฮ่องกง | 64.61 |
6 | ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) | 66.2 | 16 | สเปน | 64.5 |
7 | สวิตเซอร์แลนด์ | 65.8 | 17 | เดนมาร์ก | 64.3 |
8 | สิงคโปร์ | 65.6 | 18 | โปตุเกส | 64.2 |
9 | สหราชอาณาจักร | 65.6 | 19 | เวียดนาม | 63.4 |
10 | โปแลนด์ | 65.1 | 20 | โคลอมเบีย | 63.3 |
คำบรรยายตาราง: เจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิง (จากร้อยละของเจ้าของธุรกิจทั้งหมด) เป็นตัวชี้ค่าดัชนีผู้ประกอบการสตรีคำนวณจาก 3 องค์ประกอบในข้างต้น
จาก 58 ประเทศในดัชนีนี้ มี 8 ประเทศที่มีการเลื่อนอันดับมากกว่า 5 อันดับในแต่ละปี ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเลื่อนอันดับเร็วที่สุดและเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ อินโดนีเซีย (+13 อันดับ) ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) (+9 อันดับ) และไทย (+5 อันดับ)
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงที่อยู่ในประเทศที่อยู่อันดับล่างของดัชนีนี้ไม่ได้รับโอกาสในการทำงานในตำแหน่งระดับสูง ถูกจำกัดโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ โอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินต่ำ ได้รับโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาน้อย และระบบธุรกิจและการเงินที่ด้อยพัฒนาทำให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญ สังคมและกฎระเบียบทางสังคมไม่สนับสนุนให้พวกเธอทำงาน ไม่สนับสนุนความก้าวหน้า และไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงสวมบทบาทผู้นำ
“สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการศึกษานี้คือ ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลกแม้จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา เพราะแม้กระทั่งในประเทศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ สถานการณ์เช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จของผู้หญิงทั้งทางสังคม อาชีพ เศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในภาพรวม ด้วยเหตุนี้มาสเตอร์การ์ดจึงเดินหน้าสู้กับปัญหานี้ทั่วทุกมุมโลก โดยจัดหาเครื่องมือและโครงข่ายที่จะผลักดันสังคมสู่การเติบโตแบบทั่วถึง และนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในทุกที่” จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าว
ร้อยละของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจจากจำนวนเจ้าของธุรกิจทั้งหมดใน 5 ประเทศอันดับต้นของโลกและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
อันดับ | ประเทศ | ร้อยละ | อันดับ | ประเทศ | ร้อยละ |
1 | ยูกันดา | 38.2% | 27 | จีนแผ่นดินใหญ่ | 25.6% |
2 | กานา | 37.9% | 33 | ไทย | 23.4% |
3 | บอตสวานา | 36.0% | 40 | อินโดนีเซีย | 20.3% |
4 | สหรัฐอเมริกา | 35.1% | 41 | ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) | 20.2% |
5 | นิวซีแลนด์ | 31.8% | 42 | เขตปกครองพิเศษฮ่องกง | 19.8% |
6 | รัสเซีย | 31.2% | 46 | ญี่ปุ่น | 17.3% |
8 | ออสเตรเลีย | 30.9% | 47 | เกาหลี | 16.8% |
20 | เวียดนาม | 27.0% | 48 | มาเลเซีย | 16.2% |
24 | สิงคโปร์ | 26.3% | 53 | อินเดีย | 7.4% |
25 | ฟิลิปปินส์ | 25.8% | 56 | บังกลาเทศ | 4.4% |
“ธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ทุกชีวิตดีขึ้น จากการศึกษานี้ มาสเตอร์การ์ดได้ส่องไฟไปสู่กลุ่มที่ไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก เพราะทุกวันนี้ยังมีความไม่เท่าเทียมและการกีดกันที่ดึงรั้งผู้หญิงไว้ มาสเตอร์การ์ดเชื่อว่าความคิดที่ดีเริ่มต้นได้ทุกที่ และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและองค์กรต่างๆ จะร่วมมือกันผลักดันให้ผู้หญิงได้ก้าวหน้าทางธุรกิจมากขึ้น โดยกำจัดอคติทางเพศและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสทางการเงิน” แอนน์ แคนส์ รองประธานกรรมการบริหาร มาสเตอร์การ์ด กล่าว
สามารถดาวน์โหลด รายงานดัชนีผู้ประกอบการสตรีฉบับเต็ม ได้ที่นี่
วิธีการรวบรวมผลสำรวจ
ดัชนีผู้ประกอบการสตรีของมาสเตอร์การ์ด ประจำปี พ.ศ. 2562 เป็นรายงานฉบับที่ 3 ที่ติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงใน 58 ประเทศทั่วโลก ด้วยการเพิ่มสาธารณรัฐแองโกลาในฐานข้อมูลของกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา ดัชนีนี้ได้ขยายความพยายามที่จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางเพศของผู้ประกอบการ ผลการศึกษาฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงสภาวะความแตกต่างของแรงงานหญิงใน 58 ประเทศใน 3 มิติ ได้แก่ 1) ความก้าวหน้าทางอาชีพของสตรี 2) สินทรัพย์ด้านความรู้และการเข้าถึงทางการเงิน และ 3) สภาพที่เอื้อต่อการประกอบกิจการ และยังชี้ให้เห็นถึงปัจจัยและสภาวะต่างๆ ที่สำคัญที่ช่วยลดช่องว่างทางเพศของผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง รวมถึงปัจจัยและสภาวะที่จำกัดและกีดกันความสามารถของผู้หญิงในการทำธุรกิจ
เกี่ยวกับมาสเตอร์การ์ด
Mastercard (NYSE: MA) www.mastercard.com เป็นบริษัทเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการชำระเงินระดับโลก เครือข่ายการประมวลผลการชำระเงินทั่วโลกของเราเชื่อมต่อผู้บริโภค สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐบาล และธุรกิจในกว่า 210 ประเทศและดินแดนต่างๆ ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของมาสเตอร์การ์ดช่วยให้ธุรกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การจับจ่ายซื้อสินค้า การท่องเที่ยว การดำเนินธุรกิจ และการจัดการทางการเงิน เป็นเรื่องง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตามเราได้บนทวิตเตอร์ @MastercardAP หรือร่วมสนทนากับเราที่ Beyond the Transaction Blog และ subscribe เพื่อติดตามข่าวสารล่าสุดผ่าน Engagement Bureau